วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554

พิธีลงนาม MOU

โรงเรียนขามสะแกแสงได้จัดให้มีพิธีลงนาม MOU ระหว่างครูกับสถานศึกษาโรงเรียนขามสะแกแสงขึ้น เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2554 ณ ห้องโสตทัศนศึกษา โรงเรียนขามสะแกแสง

ที่มาของคำอธิบายเพิ่มเติมนี้มาจากบทความ
http://www.oknation.net/blog/ananbo/2009/12/17/entry-1

ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาหลายท่านคงได้ยินได้ฟังคำว่า MoU กัน ทั้งที่ปรากฏทางสื่อต่างๆ วันนี้จึงขอหยิบเอาคำนี้มาพูดถึงความหมายของ MoU ซึ่งมาจาก Memorandum of Understanding ว่าหมายถึงอะไร
Memorandum มีความหมายว่า บันทึก ข้อความที่บันทึกไว้ จดหมายเหตุ เอกสารข้อสัญญา นอกจากนี้ยังสามารถหมายความถึง สารหรือหนังสือที่ไม่เป็นทางการ จึงจะเห็นได้ว่าคำนี้จะหมายถึงเอกสารทั้งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการ Memorandum of Understanding จึงเป็น “บันทึกความเข้าใจ” เป็นหนังสือซึ่งฝ่ายหนึ่งแสดงความสมัครใจจะปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด และตามเงื่อนไขที่ปรากฏในหนังสือนั้นกับอีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่หนังสือนี้ไม่ถือว่าเป็นสัญญาผูกมัด แต่แสดงความต้องการอันแน่วแน่ของผู้ลงนามว่าจะปฏิบัติดังที่ได้ระบุไว้


โดยปกติการใช้ MoU พูดง่ายๆ คือเป็นข้อตกลงที่สองฝ่ายเจตนาทำ "หลวมๆ" เพื่อไม่ให้ดูเป็นพิธีการ โดยมีลักษณะคล้ายๆ เป็นพวกสัญญาสุภาพบุรุษ ในทางการทูต MoU เป็นส่วนหนึ่งของ “สนธิสัญญา” (treaty) ซึ่ง “สนธิสัญญา” เป็นคำที่มีความหมายทั่วไป โดยอาจมีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป อาทิ “ความตกลง” (agreement) “ข้อตกลง” (arrangement) “บันทึกความเข้าใจ”(memorandum of understanding) “บันทึกความตกลง”(memorandum of agreement) “พิธีสาร” (protocol) “อนุสัญญา” (Convention)

อย่างไรก็ดี ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม หากเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมาย ถือเป็น “สนธิสัญญา”
หากจะถามว่า MoU ถือเป็นเอกสารสัญญาที่มีผลผูกพัน หรือบังคับทางกฎหมายหรือไม่ ก็จะตอบว่าให้ดูประเด็นที่ควรพิจารณา คือ ให้ดูที่เนื้อหาของ MoU นั้น หากมีเนื้อหาที่มีเจตนาต้องการให้เกิดผลผูกพัน มีการระบุหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายอย่างชัดเจน ย่อมถือว่า MoU นั้นเป็นข้อตกลงเนื่องจากมีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ในกรณีที่ MoU นั้น เป็นเพียงการบันทึกเพื่อช่วยจำ หรือเป็นการแจ้งให้ทราบ ในทางกฎหมายแล้วจะไม่ถือว่าเป็นข้อตกลง

ในทางการบริหารจัดการขององค์กรภาคธุรกิจหรือแม้แต่ภาคราชการไทยบ้านเราในระยะที่ผ่านมา ได้นำ MoU มาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารหรือการจัดการภายในองค์กรกันมาก โดยให้บุคลากรในองค์กรแต่ละระดับจัดทำ MoU ระหว่างกันตามลำดับชั้นของการบริหาร โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดผลงาน กำหนดเป้าหมายของผลงานทั้งที่ในเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ หรือเชิงเวลา เมื่อสิ้นงวดเวลาที่ตกลงกันไว้ก็จะประเมินผลงานของบุคคลที่ทำ MoU กันไว้ว่าผลเป็นอย่างไร ผลการประเมินก็เชื่อมโยงไปถึงการเลื่อนตำแหน่ง เลื่อนขั้นเงินเดือน การจ่ายเงินรางวัลหรือโบนัสก็แล้วแต่ที่จะนำไปเชื่อมโยงกัน ซึ่งจะมีผลต่อภารกิจขององค์กรสามารถเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้เป็นอย่างดี































































































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น